วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แผ่นดินที่ตีนไม่อยากไปเหยียบ


ผมเหยียบแผ่นดินต่างชาติครั้งแรกตอนอายุ ๒๕ ปี
นับว่าช้าไปพอสมควรเมื่อนำไปเทียบกับชีวิตงานเอเจนซี่และออกาไนเซอร์
จนมาถึงอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย

ไม่ใช่ไม่อยากไป แต่รู้สึกเสียดายเงินส่วนตัวที่ต้องเอาทิ้งจำนวนไม่น้อย
(ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่บริษัทและมหาวิทยาลัยฯ ออกค่าเดินทาง ค่าที่พัก
ค่าอาหารให้ทั้งหมด)

ประกอบกับช่วงนั้น "อิน" ไปกับแคมเปญการท่องเที่ยวในประเทศไทย
ที่ทำให้เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายสถานที่ ที่ควรจะไปเยี่ยมเยือน

แต่ชีวิตคนเรามันก็แปลก
อะไรก็ตามยิ่งหนียิ่งเจอ อะไรที่อยากเจอยิ่งหาไม่พบ

การเดินทางไกลครั้งแรก
ทำให้เกิดการเดินทาง ครั้งต่อมาอย่างไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด

ญี่ปุ่น / ออสเตรเลีย / นิวซีแลนด์ / เยอรมัน / สาธารณรัฐเช็ก /
เกาหลีใต้ / อเมริกา / อังกฤษ / สิงคโปร์ / มาเลเซีย /เวียดนาม /

วนกลับมาออสเตรเลีย / นิวซีแลนด์ / ญี่ปุ่น ทั้งหมดไล่เรียงลำดับภายใน ๖ ปี
เฉลี่ยแล้วเดินทาง ปีละ ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย

เกือบทั้งหมดเดินทางเพื่อ “ดูงาน” ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว

ผมค่อนข้างจะมีทัศนคติที่แย่เอามาก ๆ กับคำว่า ดูงาน
(จะมีช่วงหลัง ๆ ที่เดินทางเพื่อ "ทำงาน")

เหตุผลก็คือ
การดูงานคือการผลาญเงินงบประมาณที่ควรจะนำไปใช้พัฒนาด้านอื่น
รู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้ง ที่การดูงานเป็นเพียงคำที่ประดิษฐ์สวย ๆ
แปะไว้ข้างหน้า ๒ วัน แล้วสอดไส้การไปเที่ยว อีก ๔ วัน

ผมจึงมักแหกคอกคณะทัวร์อยู่เสมอ ๆ สี่วันที่ให้เที่ยวผมจะคอยซิกแซก
ไปดูวัฒนธรรม ไปดูบ้านเมือง ไปดูวิถีชีวิตคนในตลาด
ไปอาร์ตแกลลอรี่ ไม่นั่งสวนสาธารณะ มากกว่าจะไปเดินช้อปปิ้ง
หรือเข้าออกร้าน เอาท์เล็ท


ผมไปญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิตเพราะอยู่ในสายงานออกแบบกราฟฟิก
แน่นอนที่สุดว่าถ้าจะดูงานบรรจุภัณฑ์คุณต้องไปที่ญี่ปุ่น

และผมก็คงเหมือนกับหลายคนในโลกนี้ที่ชื่นชมไฟต์ติ้งสปิริต
ของคนญี่ปุ่น หลังประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกอย่างยับเยิน
เลือดนักสู้ถูกก่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็น
ดีเอ็นเอพิเศษของลูกพระอาทิตย์

อย่างไม่มีวันจะถูกลบล้างไปจากจิตวิญญาณได้


๒๐ ปีที่แล้ว คนในวัย ๔๐ อย่างผม....
มีความสุขมากกับการที่เห็นทีมฟุตบอลไทยยุคปิยะพงษ์ ผิวอ่อน
นำทีมลงเตะปรีโอลิมปิกรอบ ๑๐ ทีมสุดท้ายกับญี่ปุ่น (ที่ประเทศสิงคโปร์)
ไล่เตะ ไถล่ม จนเกมจบลงด้วยชัยชนะของทีมชาติไทย

สกอร์ ๕ : ๒

ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย ทีมฟุตบอลไทยอยู่เหนือญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นทำอะไรทำจริง วางเป้าหมายสูง ทะเลาะกันรุนแรงในวงประชุม
แต่พวกเค้าจะถอดวางทุกอย่างแล้วกอดคอกินเหล้ากันได้อย่างไม่เคอะเขิน
หรือติดใจในความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้น

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
จริง...ตามก้อปปี้โฆษณา
แต่คนไทยมักพ่ายแพ้ต่ออีโก้ในตัวเอง
จนกลายเป็นชนวนการทำลายจิตวิญญาณของการต่อสู้อยู่เนือง ๆ

....................................................................................

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่สอง
คราวนี้ไปเรียนวิชา "เครือข่ายความสัมพันธ์ของประชากร"
ผมจำชื่อภาษาอังกฤษได้ไม่แม่นยำนัก
จึงขอใช้ภาษาไทยแทน

เป็นวิชาที่ผมชอบมาก ๆ เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ความแตกต่าง
ของมนุษย์อย่างมีหลักการ ตามหาร่องรอยมีหลักฐานต่าง ๆ
ที่บรรพบุรุษมนุษย์ทิ้งเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ และเดินทามทฤษฎีอย่างเข้มข้น

ที่สำคัญที่สุด คือ ครูที่สอนวิชานี้เป็นผู้หญิงสาวที่สวยเอามาก ๆ

การเรียนตลอด ๑ เดือน จึงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อสำหรับผม

สิ่งเดียวที่ทำให้ผมกลับมามองออสเตรเลียด้วยมุมมองที่แปลกไปบ้าง
คือ พวกเค้ามีอาณาเขตของประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลจ นภูมิศาสตร์เรียกว่า

ทวีปออสเตรเลีย

แต่คนของเค้ากลับใช้ชีวิตอยู่แค่ขอบของทวีป

เป็นแค่คนชายขอบที่เรียตัวเองว่าอารยชน

ยึดพื้นที่ติดน้ำเป็นแหล่งอาศัย โดยปล่อยให้เจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง
อาศัยอยู่ในทะเลทรายกลางทวีป

เหมือนกับที่ฝรั่งอารยะอย่างอเมริกันทำไว้กับเจ้าของพื้นที่
อย่างอินเดียนแดง

..............................................................................

อเมริกา
ผมไม่ชอบประเทศนี้.....

ทุกสิ่งทุกอย่างในวิถีอเมริกัน ตรงข้ามกับรสนิยมส่วนตัวอย่างยิ่ง

ผมไม่ชอบเล่นการพนัน แต่ต้องไปดูงานการจัดการงานบันเทิงที่เวกัส

ผมไม่ชอบการเดินทางไกล แต่ต้องเดินทางข้ามเมืองข้ามรัฐที่ต้องเสียเวลาเป็นวัน

ผมไม่ชอบอาหารจังก์ฟู้ด แต่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่วันละมื้อเป็นอย่างน้อย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมไม่ชอบเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันในเมืองไทย
(ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทย)

ที่ถูกวัฒนธรรมกดขี่คนผิวเหลืองครอบงำ

ผมเจอพฤติรรมที่ไม่ให้เกียรติคนไทยที่ไปยื่นขอวีซ่า
จากภาษาและท่าทางที่แสดงออก

เชื่อมั้ยครับว่าผมโดนประทับวีซ่าอเมริกาแค่ ๑๐วัน
(ตามจำนวนวันที่เอกสารขอไปดูงาน) ในขณะที่คนอีกคนที่ยืนต่อแถวข้างหลัง
ได้ประทับตรา ๑๐ ปี ด้วยเหตุผลงี่เง่าที่สุด

“ฉันไม่ได้ยินคุณตอบคำถามฉันเมื่อกี้ ทำไมต้องให้ฉันพูดสองครั้งด้วย”

อเมริกาเปลี่ยนไปมากหลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยา
พวกเค้าพ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อศัตรูที่คุณไม่มีทางจับตัวได้

ผมคิดเรื่องนี้หลังจากที่ต้องยืนเข้าแถวรอเข้ายูนิเวอร์แซลสตูดิโอ
นานร่วมสองชั่วโมง เพราะเจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจคนเข้าและออกอย่างละเอียด

รัฐบาลอเมริกาต้องเสียเงินทองไปอีกมากมาย
เพื่อสร้างระบบป้องกันไม่ให้ประเทศถูกโจมตี

แค่นั้นก็คือภาพของความพ่ายแพ้ต่อสงคราม
ที่อเมริการบกี่ครั้งก็ไม่มีวันชนะ

ผมไม่ชอบที่อเมริกาชอบทำตัวเป็นตำรวจโลก
สร้างภาพสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติ
แต่มืออีกข้างหนึ่งส่งจรวดถล่มซูดาน
พร้อม ๆกับหลิ่วตาให้นักค้าอาวุธ

อเมริกันมีหลากหลายวิธีที่จะโจมตีรุกรานทั้งการเมือง การทหารและเศรษฐกิจ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่ผมชอบมาก ๆ คือ ...
"องค์การนาซ่าของอเมริกาทุ่มเทสรรพกำลัง และงบประมาณ
จำนวนมหาศาล เพื่อสร้างปากกาให้นักบินอวกาศเขียนได้
ในสภาพไร้แรงดึงดูดได้
(ปากกาจะต้องใช้กฏของแรงดึงดูด
เพื่อให้หมึกไหลออกมาอย่างสม่ำเสมอ)


แต่สหภาพโซเวียตกลับยักไหล่ที่จะลงทุนเพื่อการนั้น

เพราะพวกเค้าพกดินสอขึ้นไปใช้งาน

มันเป็นตลกร้ายที่ผมขำก๊ากกกกก...ทุกครั้งที่นึกถึง
โดยนึกถึงหน้าจอร์ช บุช ประกอบไปด้วย

ผมชอบอเมริกันอยู่เรื่องเดียวจริง ๆ คือ
เกมอเมริกันฟุตบอล ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และวิเคราะห์ชีวิต
นำมาปรับใช้ และเป็นตัวอย่างในห้องเรียน ได้ค่อนข้างชัดเจน

บรรทัดนี้คงต้องขอกราบแทบพระบาทในหลวงของเราที่สายพระเนตรยาวไกล
รักษาสัมพันธ์กับประเทศจีนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

จีนนี่แหละครับ ที่อเมริกันกลัวจนขี้ขึ้นสมอง ลองกลับไปมองกันลึก ๆ
ถึงประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมาไม่นาน

จีนเกือบล้มเพราะพิษโรคซาร์

เพราะการสมคบคิดจากอเมริกาและพันธมิตร
เพียงเพื่อต้องการหยุดการเจริญเติบโตของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย

ยิ่งพูดยิ่งลงลึกไปทุกที .....

เบื้องลึกเบื้องหลังจากแต่ละประเทศมีมาก ในมุมมองแบบนี้
มีมากพอ ๆ กับความเน่าในของประเทศไทยจากฝีมือนักการเมืองไทย

....................................................................

ผมขอสรุปตอบสั้น ๆ จากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่น ๆ

ประเทศที่ต้อนรับคนไทยมากที่สุด คือ นิวซีแลนด์

ประเทศที่น่าไปเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์มากที่สุด คือ สาธารณรัฐเชก

ประเทศที่น่าไปใช้ชีวิตเพื่อการบริโภคให้อร่อยลิ้นมากที่สุด คือ เวียดนาม

ประเทศที่ควรไปดูงานและนำกลับมาประยุกต์ใช้ในประเทศได้มากที่สุด คือ เยอรมัน

ประเทศที่น่าไปเอาใบปริญญามาประดับตัวมากที่สุด
เมื่อคิดถึงองค์ประกอบรอบด้าน คือ มาเลเซียและสิงคโปร์ ตามลำดับ

ประเทศที่น่าอยู่ที่สุด คือ ประเทศไทย

ถ้า............................

ไม่มีนักการเมืองรุ่นไดโนเสาร์

และประเทศที่ไม่น่าคบมากที่สุด คือ

กัมพูชา

ไม่ใช่ตามกระแสความขัดแย้ง แต่ผมรู้สึกมานานแล้ว จนกระทั่งถูกสำทับด้วย
คำบอกเล่าของเพื่อนที่ทำงานวิศกรที่นั่นมานับสิบปี

“ประเทศนี้เต็มไปด้วยคนโกง คบไม่ได้และไม่ซื่อสัตย์”


โชคดีของตีนผม
ที่ไม่เคยไปเหยียบที่นั่น

ความคิด (จะ) สร้างสรรค์



๑.
โลกนี้ผ่านกาลเวลามานานกว่าสี่พันปี

ทฤษฎีบิ๊กแบง

คือ การกำเนิดของโลกในแง่มุมของวิทยาศาสตร์
ซึ่งเราก็เชื่อตามกันมา และเชื่อไปจนกว่าจะมีเหตุผลอื่นมาลบล้าง

มนุษย์ในยุคแรก ดำรงชีวิตอยู่อย่างง่าย ๆ
มีธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เชื่อว่ามนุษย์คงยังไม่คิดอะไร
มากไปกว่า ทำอย่างไรให้ชีวิตอยู่รอด

ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในระยะแรก ๆ
จึงน่าจะเป็นความคิดเพื่อให้มีชีวิตอยู่ และพัฒนาความคิด
มาเป็น

“อยู่อย่างไรให้สะดวกสบายขึ้น”

ต่อมามนุษย์ค้นพบไฟ.....
น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติในอดีต

ตามมาด้วยการค้นพบอาวุธ เพื่อให้การล่าสัตว์ง่ายดายขึ้น

ค้นพบการเก็บรักษาและถนอมอาหาร ซึ่งอาหารบางชนิด
ก็เป็นค้นพบโดยบังเอิญ เช่น การค้นพบชีส จากการนำนมวัว
ติดตัวเดินทางไกล

ไฟ
อาวุธ
อาหาร

เป็นสามสิ่งแรกที่บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มต้นใช้
“ความคิด” จนกลายมาเป็นพื้นฐานพัฒนาการของมนุษย์ในปัจจุบัน.

๒.
ความคิดเป็นเรื่องที่สอนกันได้หรือไม่ ?
คำตอบ คือ สอนได้

เฉพาะคนที่รักในการคิด

เป็นไปไม่ได้เลยที่คนที่ไม่รู้สึกรักในการคิด จะเป็นคนที่จะเรียนเรื่อง
ความคิดสร้างสรรค์ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่การใช้ความคิดธรรมดา
ที่เกิดขึ้นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

มันมีคำว่า “สร้างสรรค์” เข้ามาต่อความคิด ซึ่งหมายความว่า
ความคิดนั้นจะต้องแปลก ใหม่ ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

แต่ก็เป็นเพียงแค่นิยามแรกเท่านั้น เพราะความคิดสร้างสรรค์ในชีวิตจริง
ไม่จำเป็นต้องแปลกใหม่ตลอดเวลา เพียงแค่ความคิดนั้นสามารถนำเรา
ไปสู่ทางที่ไม่มีปัญหาได้ก็ถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

๓.
ก้อนหินเพียงก้อนเดียวที่อยู่ในมือ
คนที่ไม่คิด....จะเขวี้ยงมันทิ้งไปอย่างไร้ค่า
แต่คนรักที่จะคิดจะมองก้อนหินก้อนนั้นว่า
ของไร้ค่านี้ จะทำให้มีค่าขึ้นมาได้อย่างไร

นักแต่งเพลงสามารถนำก้อนหินมาเป็นสิ่งเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องราว
ของชีวิตกับความรัก เช่น เพลงก้อนหินก้อนนั้น

นักคิดสร้างสรรค์สามารถนำก้อนหินมาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า....
ในโจทย์เดียวกัน คนสร้างสรรค์สามารถจะทำให้มันเป็นอะไร?


๔.
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัด
หนึ่งในนั้นคือ ระบบการศึกษาของเรานี่เอง

พื้นฐานการศึกษายังสอนให้นักเรียนท่องจำ

ข้อสอบใช้วิธีกากบาทเลือกข้อที่ถูกต้อง ถ้าจำไม่ได้หรือกากบาทผิดข้อ
นั่นหมายถึงนักเรียนไม่ได้คะแนน ดังนั้นคะแนนที่นักเรียนจะได้
เมื่อจบแต่ละวิชาคือสุดยอดปรารถนาของนักเรียน

จริงอยู่ที่บางคนอาจจะตอบข้อสอบได้เก้าสิบเก้าคะแนนคะแนน
แต่จะไม่มีทางรู้เลยว่าหนึ่งคะแนนที่หายไปเขาตอบข้อไหนผิด

เราไม่เคยมีข้อสอบที่ให้นักศึกษา “คิดแล้วตอบ”
จนกว่าจะขึ้นไปเรียนถึงระดับ ปริญญาโท ซึ่งน่าจะช้าไปเสียแล้ว
เพราะนักเรียน/นักศึกษาคุ้นเคยกับถูก ผิด หรือถูกทุกข้อมามากกว่ายี่สิบปี

จึงไม่แปลกเลยที่ชั้นเรียนส่วนใหญ่ จะมีแต่เสียงของครูกับแผ่นใส
หรือพาวเว่อร์พ้อยต์ โดยปราศจากการโต้ตอบ โต้แย้ง อภิปราย
อย่างเป็นเหตุเป็นผลจากผู้เรียน

ยกเว้นวันที่นักศึกษาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเสนองาน

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ทัศนคติที่ไม่เท่าทันโลกของผู้บริหารการศึกษา
หลายสถาบันมุ่งเน้นแต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุดนักศึกษา
(ซึ่งไม่มีวันทำให้นักศึกษาเป็นไปอย่างที่ต้องการได้อย่างแน่นอน)

หลายครั้งจึงบอกนักศึกษาว่า

“สมองไม่ได้อยู่ที่รองเท้าผ้าใบหรือกางเกงยีนส์”

ทางที่จะทำให้นักศึกษาเห็นและเข้าใจว่าเครื่องแบบนักศึกษา
มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ต้องหาวิธีเข้าให้ถึงจิตใจของพวกเขา
เป็นลำดับแรก

เมื่อเข้าถึงใจ เราจะมีโอกาสเข้าถึงทุกอย่าง
ค่อยเป็นค่อยไปและค่อยอธิบายให้เข้าเข้าใจว่า
เครื่องแบบนักศึกษามีความหมายต่อมหาวิทยาลัยฯ อย่างไร
ควบคู่ไปกับกางเกงยีนส์

รองเท้าผ้าใบ

เสื้อยืดหรือหมวกใบโปรดสักใบ


๕.
เราจะหาความคิดสร้างสรรค์ได้จากที่ไหน ?
คำตอบคือมีอยู่ทุกที่

นิวตัน ค้นพบทฤษฎี แรงโน้มถ่วงของโลกที่ใต้ต้นแอปเปิ้ล

กาลิเลโอ ตอบโจทย์เรื่องน้ำหนักของวัตถุที่อ่างอาบน้ำ

แอ๊ด คาราบาว สังเกตต้นไผ่ ที่หน้าร้านเหล้า
ก่อนจะไปค้นคว้าเพิ่มเติมว่าเมื่อดอกไผ่บานเป็นสัญญาณว่ามันกำลังจะตาย
จนกลายมาเป็นเพลงดอกไผ่บาน

สิ่งที่ความคิดสร้างสรรค์ต้องการมากที่สุด คือ
การต่อยอดความคิด เป็นความจริงที่ถูกบันทึกว่า

เพลงขวานไทยใจหนึ่งเดียว

เริ่มต้นจากกระดาษยับ ๆ แผ่นหนึ่งที่เพื่อร่วมวงสุราเขียนส่งมาให้

“ถ้าโลกนี้มีมาก่อนผู้คนแต่โลกจะทนอยู่ได้นานสักเท่าใด
คือ ประโยคขึ้นเพลงขวานไทยจากผู้ชายกำจอกสุรา”

ตัวอย่างและคำอธิบายทั้งหมด เป็นข้อสรุปเบื้องต้นว่า
ความคิดสร้างสรรค์ สอนกันไม่ได้
แต่เป็นเรื่องที่ต้องการสามเรื่องเข้ามาประกอบกัน คือ

หนึ่ง.รักที่จะคิด

สอง.ต่อยอดความคิด

และสาม.มีอุปกรณ์ช่วยในการคิด

๖.
ที่สำคัญต้องมีทัศนคติที่ดีต่อความคิดของตัวเอง
และนับถือความคิดของตนเองและผู้อื่น (ซึ่งเป็นเรื่องยาก) /

ต่อยอดความคิดจากการค้นคว้าเพิ่มเติม
หาหนทางในการสร้างแรงบันดาลใจ (ยากขึ้น) /

อุปกรณ์ช่วยคิด คือ กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่สามารถพกติดกระเป๋าได้
และใช้มันให้เกิดประโยชน์ทุกครั้งที่เราได้พบเจอสิ่งที่กระทบใจ

ระหว่างเดินมาที่ทำงาน
วันนี้เจอคนเก็บขยะนอนอ่านหนังสือพิมพ์ในเปลญวน

เจอตำรวจจราจรกำลังเขียนใบสั่งแปะไว้ที่รถจักรยาน

เจอประโยคโดนใจว่าในหนังสือนิยาย เรื่องทาสกุหลาบที่อ่านเมื่อคืน ว่า

“ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกเลือกหรือเป็นคนที่ถูกลืม
ชีวิตเราไม่เคยหยิบยืมชีวิตของใคร”

เปิดคอมพิวเตอร์เจอหัวเอ็มเอสเอ็นของเพื่อนคนหนึ่งเขียนว่า
“แล้วแต่ตีนจะพาไป”

วานนี้กับวันนี้ได้พบเจอสิ่งที่ไม่เคยพบสี่เรื่อง
เมื่อกลับบ้าน เอากระดาษโน้ตทั้งสี่แผ่นหย่อนใส่ไว้ในขวดแก้ว
ที่ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ขวดแก้วที่เรียกมันเหมือนเพื่อนสนิทว่า

“ขวดสะสมความคิด”

เมื่อมีเวลาว่างจึงได้โอกาสเหลาความคิด เปรียบเหมือนกับ
ความคิดสร้างสรรค์คือการเหลาดินสอให้แหลมคมพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ภาพคนเก็บขยะ จึงได้สโลแกนมาประกอบภาพว่า
“ทุกที่มีข่าวของคุณ” เพื่อโฆษณาหนังสือพิมพ์สักฉบับหนึ่ง (ในอนาคต)

ได้ต่อยอดด้วยการค้นหากฎหมายจราจร และทำให้เราได้รู้ว่า
ตำรวจให้ใบสั่งพาหนะได้ทุกชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ประโยคเริ่มต้นของหนังสือทาสกุหลาบ
ทำให้ได้ทดสอบทักษะด้านการเขียน

ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกเลือกหรือเป็นคนที่ถูกลืม
ชีวิตเราไม่เคยหยิบยืมชีวิตของใคร
หากยังมีลมหายใจอยู่ ไม่สู้ก็มีแต่แพ้พ่าย
ไม่มีภูเขาใดสูงเกินปีนป่าย ไม่มีทางสายใดยาวไกลเกิน


แล้วแต่ตีนจะพาไป ตอบเอ็มเอสเอ็นเพื่อนไปว่า
พาตีนมึงข้ามทะเลใจให้ได้ก่อน
ขวดสะสมความคิดไม่มีวันเต็ม ซึ่งเราเรียกมันว่า

“การพัฒนาความคิด”

๗.
ขวดความคิดไม่มีวันเต็ม ลองหาเหยือกปากกว้างสักเหยือกหนึ่ง
ก้อนหินขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่พอจะใส่ลงในเหยือกให้เต็ม

ก้อนกรวดที่พอจะโรยใส่เหยือกแล้วให้กรวดแทรกเข้าไปอยู่ในช่องว่าง
ของก้อนหินขนาดเล็ก

โรยทรายเติมเข้าไปให้เต็มในช่องว่างที่เหลือ ถ้าคิดว่าเหยือกนั้นเต็มแล้ว
ก็คิดผิด เพราะยังมีที่ว่างพอให้เทน้ำบริสุทธิ์ใส่เข้าไปแทรกเม็ดทรายได้อีก

เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่า เรามีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะแต่งเติมความคิด
ของเราจนเสร็จสมบูรณ์

ขวดความคิดไม่มีวันเต็ม เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ความคิดของคนอื่น
มาช่วยประเมินความคิดของเราด้วย

นั่นคือที่มาของการให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นกลุ่มและการยอมรับ
ซึ่งกันและกัน ความคิดของบางคนอาจเป็นความคิดเล็ก ๆ ที่เราไม่คิดจะใส่ใจ
แต่ขอให้นึกย้อนไปถึงนิทานเรื่อง

ราชสีห์กับหนู

หรือฟังเพลงราชสีห์กับหนูของสินเจริญบราเธอส์ประกอบไปด้วย
จะค้นพบว่าคำว่า S t a f f หรือการทำงานเป็นกลุ่มนั้น
มีความหมายซุกซ่อนอยู่

Speed / Time / Attitude / Fun / Friend.