วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความคิด (จะ) สร้างสรรค์



๑.
โลกนี้ผ่านกาลเวลามานานกว่าสี่พันปี

ทฤษฎีบิ๊กแบง

คือ การกำเนิดของโลกในแง่มุมของวิทยาศาสตร์
ซึ่งเราก็เชื่อตามกันมา และเชื่อไปจนกว่าจะมีเหตุผลอื่นมาลบล้าง

มนุษย์ในยุคแรก ดำรงชีวิตอยู่อย่างง่าย ๆ
มีธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เชื่อว่ามนุษย์คงยังไม่คิดอะไร
มากไปกว่า ทำอย่างไรให้ชีวิตอยู่รอด

ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในระยะแรก ๆ
จึงน่าจะเป็นความคิดเพื่อให้มีชีวิตอยู่ และพัฒนาความคิด
มาเป็น

“อยู่อย่างไรให้สะดวกสบายขึ้น”

ต่อมามนุษย์ค้นพบไฟ.....
น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติในอดีต

ตามมาด้วยการค้นพบอาวุธ เพื่อให้การล่าสัตว์ง่ายดายขึ้น

ค้นพบการเก็บรักษาและถนอมอาหาร ซึ่งอาหารบางชนิด
ก็เป็นค้นพบโดยบังเอิญ เช่น การค้นพบชีส จากการนำนมวัว
ติดตัวเดินทางไกล

ไฟ
อาวุธ
อาหาร

เป็นสามสิ่งแรกที่บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มต้นใช้
“ความคิด” จนกลายมาเป็นพื้นฐานพัฒนาการของมนุษย์ในปัจจุบัน.

๒.
ความคิดเป็นเรื่องที่สอนกันได้หรือไม่ ?
คำตอบ คือ สอนได้

เฉพาะคนที่รักในการคิด

เป็นไปไม่ได้เลยที่คนที่ไม่รู้สึกรักในการคิด จะเป็นคนที่จะเรียนเรื่อง
ความคิดสร้างสรรค์ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่การใช้ความคิดธรรมดา
ที่เกิดขึ้นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

มันมีคำว่า “สร้างสรรค์” เข้ามาต่อความคิด ซึ่งหมายความว่า
ความคิดนั้นจะต้องแปลก ใหม่ ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

แต่ก็เป็นเพียงแค่นิยามแรกเท่านั้น เพราะความคิดสร้างสรรค์ในชีวิตจริง
ไม่จำเป็นต้องแปลกใหม่ตลอดเวลา เพียงแค่ความคิดนั้นสามารถนำเรา
ไปสู่ทางที่ไม่มีปัญหาได้ก็ถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

๓.
ก้อนหินเพียงก้อนเดียวที่อยู่ในมือ
คนที่ไม่คิด....จะเขวี้ยงมันทิ้งไปอย่างไร้ค่า
แต่คนรักที่จะคิดจะมองก้อนหินก้อนนั้นว่า
ของไร้ค่านี้ จะทำให้มีค่าขึ้นมาได้อย่างไร

นักแต่งเพลงสามารถนำก้อนหินมาเป็นสิ่งเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องราว
ของชีวิตกับความรัก เช่น เพลงก้อนหินก้อนนั้น

นักคิดสร้างสรรค์สามารถนำก้อนหินมาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า....
ในโจทย์เดียวกัน คนสร้างสรรค์สามารถจะทำให้มันเป็นอะไร?


๔.
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัด
หนึ่งในนั้นคือ ระบบการศึกษาของเรานี่เอง

พื้นฐานการศึกษายังสอนให้นักเรียนท่องจำ

ข้อสอบใช้วิธีกากบาทเลือกข้อที่ถูกต้อง ถ้าจำไม่ได้หรือกากบาทผิดข้อ
นั่นหมายถึงนักเรียนไม่ได้คะแนน ดังนั้นคะแนนที่นักเรียนจะได้
เมื่อจบแต่ละวิชาคือสุดยอดปรารถนาของนักเรียน

จริงอยู่ที่บางคนอาจจะตอบข้อสอบได้เก้าสิบเก้าคะแนนคะแนน
แต่จะไม่มีทางรู้เลยว่าหนึ่งคะแนนที่หายไปเขาตอบข้อไหนผิด

เราไม่เคยมีข้อสอบที่ให้นักศึกษา “คิดแล้วตอบ”
จนกว่าจะขึ้นไปเรียนถึงระดับ ปริญญาโท ซึ่งน่าจะช้าไปเสียแล้ว
เพราะนักเรียน/นักศึกษาคุ้นเคยกับถูก ผิด หรือถูกทุกข้อมามากกว่ายี่สิบปี

จึงไม่แปลกเลยที่ชั้นเรียนส่วนใหญ่ จะมีแต่เสียงของครูกับแผ่นใส
หรือพาวเว่อร์พ้อยต์ โดยปราศจากการโต้ตอบ โต้แย้ง อภิปราย
อย่างเป็นเหตุเป็นผลจากผู้เรียน

ยกเว้นวันที่นักศึกษาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเสนองาน

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ทัศนคติที่ไม่เท่าทันโลกของผู้บริหารการศึกษา
หลายสถาบันมุ่งเน้นแต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุดนักศึกษา
(ซึ่งไม่มีวันทำให้นักศึกษาเป็นไปอย่างที่ต้องการได้อย่างแน่นอน)

หลายครั้งจึงบอกนักศึกษาว่า

“สมองไม่ได้อยู่ที่รองเท้าผ้าใบหรือกางเกงยีนส์”

ทางที่จะทำให้นักศึกษาเห็นและเข้าใจว่าเครื่องแบบนักศึกษา
มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ต้องหาวิธีเข้าให้ถึงจิตใจของพวกเขา
เป็นลำดับแรก

เมื่อเข้าถึงใจ เราจะมีโอกาสเข้าถึงทุกอย่าง
ค่อยเป็นค่อยไปและค่อยอธิบายให้เข้าเข้าใจว่า
เครื่องแบบนักศึกษามีความหมายต่อมหาวิทยาลัยฯ อย่างไร
ควบคู่ไปกับกางเกงยีนส์

รองเท้าผ้าใบ

เสื้อยืดหรือหมวกใบโปรดสักใบ


๕.
เราจะหาความคิดสร้างสรรค์ได้จากที่ไหน ?
คำตอบคือมีอยู่ทุกที่

นิวตัน ค้นพบทฤษฎี แรงโน้มถ่วงของโลกที่ใต้ต้นแอปเปิ้ล

กาลิเลโอ ตอบโจทย์เรื่องน้ำหนักของวัตถุที่อ่างอาบน้ำ

แอ๊ด คาราบาว สังเกตต้นไผ่ ที่หน้าร้านเหล้า
ก่อนจะไปค้นคว้าเพิ่มเติมว่าเมื่อดอกไผ่บานเป็นสัญญาณว่ามันกำลังจะตาย
จนกลายมาเป็นเพลงดอกไผ่บาน

สิ่งที่ความคิดสร้างสรรค์ต้องการมากที่สุด คือ
การต่อยอดความคิด เป็นความจริงที่ถูกบันทึกว่า

เพลงขวานไทยใจหนึ่งเดียว

เริ่มต้นจากกระดาษยับ ๆ แผ่นหนึ่งที่เพื่อร่วมวงสุราเขียนส่งมาให้

“ถ้าโลกนี้มีมาก่อนผู้คนแต่โลกจะทนอยู่ได้นานสักเท่าใด
คือ ประโยคขึ้นเพลงขวานไทยจากผู้ชายกำจอกสุรา”

ตัวอย่างและคำอธิบายทั้งหมด เป็นข้อสรุปเบื้องต้นว่า
ความคิดสร้างสรรค์ สอนกันไม่ได้
แต่เป็นเรื่องที่ต้องการสามเรื่องเข้ามาประกอบกัน คือ

หนึ่ง.รักที่จะคิด

สอง.ต่อยอดความคิด

และสาม.มีอุปกรณ์ช่วยในการคิด

๖.
ที่สำคัญต้องมีทัศนคติที่ดีต่อความคิดของตัวเอง
และนับถือความคิดของตนเองและผู้อื่น (ซึ่งเป็นเรื่องยาก) /

ต่อยอดความคิดจากการค้นคว้าเพิ่มเติม
หาหนทางในการสร้างแรงบันดาลใจ (ยากขึ้น) /

อุปกรณ์ช่วยคิด คือ กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่สามารถพกติดกระเป๋าได้
และใช้มันให้เกิดประโยชน์ทุกครั้งที่เราได้พบเจอสิ่งที่กระทบใจ

ระหว่างเดินมาที่ทำงาน
วันนี้เจอคนเก็บขยะนอนอ่านหนังสือพิมพ์ในเปลญวน

เจอตำรวจจราจรกำลังเขียนใบสั่งแปะไว้ที่รถจักรยาน

เจอประโยคโดนใจว่าในหนังสือนิยาย เรื่องทาสกุหลาบที่อ่านเมื่อคืน ว่า

“ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกเลือกหรือเป็นคนที่ถูกลืม
ชีวิตเราไม่เคยหยิบยืมชีวิตของใคร”

เปิดคอมพิวเตอร์เจอหัวเอ็มเอสเอ็นของเพื่อนคนหนึ่งเขียนว่า
“แล้วแต่ตีนจะพาไป”

วานนี้กับวันนี้ได้พบเจอสิ่งที่ไม่เคยพบสี่เรื่อง
เมื่อกลับบ้าน เอากระดาษโน้ตทั้งสี่แผ่นหย่อนใส่ไว้ในขวดแก้ว
ที่ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ขวดแก้วที่เรียกมันเหมือนเพื่อนสนิทว่า

“ขวดสะสมความคิด”

เมื่อมีเวลาว่างจึงได้โอกาสเหลาความคิด เปรียบเหมือนกับ
ความคิดสร้างสรรค์คือการเหลาดินสอให้แหลมคมพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ภาพคนเก็บขยะ จึงได้สโลแกนมาประกอบภาพว่า
“ทุกที่มีข่าวของคุณ” เพื่อโฆษณาหนังสือพิมพ์สักฉบับหนึ่ง (ในอนาคต)

ได้ต่อยอดด้วยการค้นหากฎหมายจราจร และทำให้เราได้รู้ว่า
ตำรวจให้ใบสั่งพาหนะได้ทุกชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ประโยคเริ่มต้นของหนังสือทาสกุหลาบ
ทำให้ได้ทดสอบทักษะด้านการเขียน

ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกเลือกหรือเป็นคนที่ถูกลืม
ชีวิตเราไม่เคยหยิบยืมชีวิตของใคร
หากยังมีลมหายใจอยู่ ไม่สู้ก็มีแต่แพ้พ่าย
ไม่มีภูเขาใดสูงเกินปีนป่าย ไม่มีทางสายใดยาวไกลเกิน


แล้วแต่ตีนจะพาไป ตอบเอ็มเอสเอ็นเพื่อนไปว่า
พาตีนมึงข้ามทะเลใจให้ได้ก่อน
ขวดสะสมความคิดไม่มีวันเต็ม ซึ่งเราเรียกมันว่า

“การพัฒนาความคิด”

๗.
ขวดความคิดไม่มีวันเต็ม ลองหาเหยือกปากกว้างสักเหยือกหนึ่ง
ก้อนหินขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่พอจะใส่ลงในเหยือกให้เต็ม

ก้อนกรวดที่พอจะโรยใส่เหยือกแล้วให้กรวดแทรกเข้าไปอยู่ในช่องว่าง
ของก้อนหินขนาดเล็ก

โรยทรายเติมเข้าไปให้เต็มในช่องว่างที่เหลือ ถ้าคิดว่าเหยือกนั้นเต็มแล้ว
ก็คิดผิด เพราะยังมีที่ว่างพอให้เทน้ำบริสุทธิ์ใส่เข้าไปแทรกเม็ดทรายได้อีก

เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่า เรามีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะแต่งเติมความคิด
ของเราจนเสร็จสมบูรณ์

ขวดความคิดไม่มีวันเต็ม เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ความคิดของคนอื่น
มาช่วยประเมินความคิดของเราด้วย

นั่นคือที่มาของการให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นกลุ่มและการยอมรับ
ซึ่งกันและกัน ความคิดของบางคนอาจเป็นความคิดเล็ก ๆ ที่เราไม่คิดจะใส่ใจ
แต่ขอให้นึกย้อนไปถึงนิทานเรื่อง

ราชสีห์กับหนู

หรือฟังเพลงราชสีห์กับหนูของสินเจริญบราเธอส์ประกอบไปด้วย
จะค้นพบว่าคำว่า S t a f f หรือการทำงานเป็นกลุ่มนั้น
มีความหมายซุกซ่อนอยู่

Speed / Time / Attitude / Fun / Friend.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น