วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พระจันทร์ / เขาพระวิหาร / ไมเคิล แจ๊คสัน



"...พระจันทร์เป็นของผู้ใด พระวิหารของผู้นั้น..."

ท่อนสำคัญของเพลง "เขาพระจันทร์" (อัลบั้มโฮะ, คาราบาว,พ.ศ.๒๕๕๒)
เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มนี้ เพราะมีสี่เหตุผลประกอบกัน


หนึ่ง.พระจันทร์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางอีกครั้ง หลังจากที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
ในเพลงคาราบาวมาหลายเพลง

สอง.ภาษาสวย ๆ ของพี่แอ๊ดกลับมาอีกครั้ง มันเป็นเพลงที่มีสัมผัสทางภาษา
เหมือนเพลงในยุคแรก ๆ

สาม.แก่นของเพลงที่เนื้อหามุ่งไปหา คือ บอกเล่าความขัดแย้งระหว่างชนชาติ
เพียงแต่วิธีการที่คาราบาว นำเสนอในเนื้อหา “ไม่มีความรุนแรง”
(ประเภท เอาไมเคิลแจ๊คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา)

สี่.ปรัชญาที่ซ่อนไว้ในประโยค

พระจันทร์เป็นของผู้ใดพระวิหารของผู้นั้น"
มันลึกซึ้งจนคนตีความ (อย่างผม) “อึ้ง” กับกลวิธีการเล่าเรื่อง


แต่คนอื่นจะตีความอย่างไรก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
แต่สำหรับผม...พระจันทร์เป็นของใคร ? เขาพระวิหารก็เป็นของคนนั้น (นั่นแหละ)

มันเป็นประโยคที่ถามกลับไปหา “ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย” เพื่อให้พวกคุณได้ฉุกคิดกันเองว่า

"ทุกสิ่งในโลกนี้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่สวยงามและสร้างสุนทรียให้มนุษย์
ก็ควรที่มุษย์ต้องช่วยกันรักษา ธรรมชาติ ป่า น้ำ ปิรามิด กำแพงเมืองจีน เพลง ดนตรี
พระจันทร์ เขาพระวิหาร หรือวงดนตรีคาราบาว”

ทั้งหมด “เป็น” และ “กำลังจะเป็น” ประวัติศาสตร์ที่ควรเป็นสมบัติของคนทั้งโลก

ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งคนใด?

พูดถึงไมเคิล แจ๊คสันไปส่วนหนึ่งขอขยายความเพิ่มเติม
ไม่ใช่เพราะไมเคิลปรากฏอยู่ในเพลงทับหลัง บนทัศนะเชิงลบของคาราบาว
แต่เพราะมีอีกหลายแง่มุมที่ควรกล่าวถึง

เคยอ่านในเอกสารแผ่นหนึ่ง แอ๊ด คาราบาวบอกว่า การ MJ
เข้าไปเป็นตัวละครในเพลงทับหลัง ไม่ได้เกิดจากทัศนะเชิงลบในส่วนตัว แต่เป็นผลมาจาก

“พลังอำนาจของการตลาด”

แอ๊ด คาราบาวให้สัมภาษณ์ว่า
"ตอนนั้นคาราบาวเป็นพันธมิตรกับโค้ก MJ เป็นพรีเซนเตอร์ของเป๊ปซี่
เพียงเท่านี้ผมก็รู้แล้วว่าควรจะทำอย่างไร”

เพลงทับหลังจึงเกิดขึ้น จากส่วนผสมของความหวงแหนสมบัติชาติ
บวกกับทัศนคติที่ถูกฉาบด้วยพลังของการตลาด เมื่อฟังทับหลังแล้ว
คนฟัง สะใจมั้ยกับเนื้อหาที่รุก ไล่ ล่า ... วัฒนธรรมอเมริกัน
(ที่ช่วงนั้นถือว่า MJ เป็นตัวแทน)


“ไม่สะใจเลย”


MJ สิ้นไปเสียใจมั้ย

“ก็ไม่”

ผมชอบแค่ท่าเต้นแปลกตาที่ถูกออกแบบมาอย่างดี กับเพลง we are the world เท่านั้น

MJ มีชีวิตที่เป็นผลผลิตของ “ระบบทุนนิยมที่เห็นคนเป็นสินค้า”

มีแฟนเพลงเห็นเขาเป็น “เทพเจ้า”
หรือแม้แต่ครอบครัวที่น่าจะเป็นสิ่งที่เติมความเป็นคนให้สมบูรณ์
ก็ยังติดบ่วงทุนนิยมจนมองเห็นเขาเป็น ทั้งสินค้าและเทพเจ้าในเวลาเดียวกัน.

พระจันทร์ เขาพระวิหาร ไมเคิล แจ๊คสัน

เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ว่า
มนุษย์จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร
ภาพประกอบบทความ ปกซีดีอัลบั้ม "โฮะ" : วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด)

1 ความคิดเห็น: