วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

my story

Photobucket
๒๐ ปีที่แล้ว ที่สนามศุภชลาศัย มีเพื่อนร่วมทีมอีก ๒๑ ชีวิต
เตรียมพร้อมก้าวขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัล รองชนะเลิศ
ฟุตบอลโรงเรียนของกรมพละศึกษา รุ่นอายุไม่เกิน ๑๘ ปี

สีเสื้อชมพูน้ำเงินของโรงเรียนโยธินบูรณะ ชุ่มโชกไปด้วยเม็ดเหงื่อ
เม็ดเหงื่อ ที่ทั้งทีมทุ่มเทกำลังแรงตลอด ๘๐นาทีของการแข่งขัน

วันนั้นอาจจะมีคราบน้ำตาของเพื่อนร่วมทีม
ติดอยู่ที่ปกและอกเสื้ออยู่บ้าง บางคนร้องไห้ที่พ่ายแพ้
แต่อีกหลายคนร้องไห้เพราะภาคภูมิใจที่ทำได้เกินเป้าหมายของทีมที่วางไว้
ประสบการณ์ตรงสอนว่า


“เหงื่อกับน้ำตามักจะมาคู่กันเสมอ”


ปี ๒๕๔๐ เวลาบ่ายค่อนเย็น ขาซ้ายก้าวนำข้างขวา ยกตัวขึ้นไปตามขั้นบันได
ร่างกายต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก แม้จะเพียงแค่ ๑๕ ขั้น แต่ก็เหนื่อยพอให้
ยืนพักเมื่อหยุดยืนที่หน้าห้องทะเบียน ที่อาคารบัณฑิตวิทยาลัย
ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ใช้เวลากรอกแบบฟอร์มไม่นาน
เพื่อเป็นหลักฐานขอรับใบปริญญา จากมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน
เป็นปริญญาใบที่สองในชีวิต ต่อจากปริญญาตรีที่เคยได้รับเมื่อ ๕ ปีก่อนหน้านี้

วันนั้น ไม่มีชุดครุย ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่นมาร่วมแสดงความยินดี
ไม่มีน้ำตาของความภาคภูมิใจ แค่เก็บความภาคภูมิใจไว้เงียบ ๆ
อิ่มเอมกับความสำเร็จอีกขั้นเพียงลำพัง แม้แต่คนในครอบครัวยังไม่รู้เลยว่า

เรียนจบปริญญาโทตั้งแต่เมื่อไหร่


เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง อีกครั้งว่า

ช่วงเวลาที่น่าจดจำ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาร่วมจำกับเรา”



ชีวิตช่วงมัธยม มีความหมายเพราะการมีเพื่อนมาก ได้เล่น ได้เรียน (บ้าง)
สนุกสนานไปตามวัย ไม่มีเรื่องใด ๆ ให้คิดมากไปกว่านั้น

แตกต่างจากชีวิตช่วงที่ทำงานและเรียนปริญญาโทไปพร้อม ๆ กัน
เป็นชีวิตท่ามกลางการแข่งขันที่ไม่ได้จบแค่ ๘๐ นาที เป็นการแข่งขันที่พลาดได้
แต่ไม่มีโอกาสให้แก้ตัว บางวันเหนื่อย ล้า จนท้อแท้

บางครั้งต้องยืนหน้ากระจกแล้วถามตัวเองว่า


“เรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ต่อสู้เพื่ออะไร และทำทุกอย่างในวันนี้เพื่อใคร”


ถามตัวเอง แต่ไม่เคยได้คำตอบจากคำถามนั้น จนกระทั่งสายวันหนึ่ง


“ถ้าเรียนจบแล้วจะเอาความรู้ที่ได้รับไปทำอะไร” ....
“เอาไปพัฒนามหาวิทยาลัยครับ”

ตอบคำถามยาก ๆ แบบง่าย ๆ ตามที่รู้สึก จนมาคิดย้อนหลังว่าเป็นคำตอบโง่ ๆ

เพราะถ้าเรียนจบปริญญาเอกได้ตัวอักษร “ดร.” นำหน้า
จะต้องเอาความรู้ไปใช้พัฒนาแผ่นดินไทยและสังคมโลกไม่ใช่แค่

สังคมมหาวิทยาลัย



“หัวข้อเรื่องที่คิดว่าจะทำดุษฎีนิพนธ์ คิดว่าจะทำเรื่องอะไร” .......
“คาราบาว”


ตอบคำถามยาก ๆ แบบง่าย ๆ อีกครั้ง คาราบาวจะเอาไปพัฒนา

มหาวิทยาลัยได้ตรงไหน ?
ประสบการณ์ตรงที่ทำให้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากคำถามง่าย ๆ ของอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน)
กับผู้อำนวยการโครงการดุษฎีนิพนธ์ (รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา) ว่า


“การมอบโอกาสให้ใครสักคน เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ของชีวิต”

โอกาสที่ทั้งสองท่านมอบให้ คือให้ “เรียน” เพื่ออีก ๔ ปีข้างหน้า
จะได้มีคำนำหน้าว่า “ด๊อกเตอร์” ดูขัดเขินตัวเองอยู่บ้าง

ถ้าย้อนภาพกลับไปตอนที่วิ่งไล่เตะฟุตบอลอย่างสนุกสนานตอนมัธยม
กับช่วงที่เรียนไปทำงานไป บางวันให้เพื่อนในกลุ่มช่วยเช็คชื่อให้
แทบจะนึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าคน ๆ เดียวกันนั้น จะได้รับโอกาสมากขนาดนี้

หลังประกาศผลการคัดเลือก มีแค่พ่อ แม่ และน้องชาย เป็นสามชีวิตในครอบครัว
ที่ร่วมยินดีด้วยกับโอกาสที่ได้รับ ยังจำได้แม่นยำถึงคำพูดของแม่
(ผศ.สมจิตต์ อินทสระ) รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะครุศาสตร์
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (ในขณะนั้น, ปัจจุบันคุณแม่เสียชีวิตแล้ว)

“อยู่ที่สวนดุสิต ขอให้ขยัน อดทน ซื่อสัตย์และ
อ่อนน้อมถ่อมตน”


คำสอนของแม่ นำมาลงมือทำและทำได้ดีพอสมควรอยู่สามอย่าง
คือ ขยัน ซื่อสัตย์ และอ่อนน้อมถ่อมตน

ส่วนเรื่องอดทน จะทำได้เป็นบางเรื่อง หรือบางสถานการณ์



เทอมแรกของการเรียนปริญญาเอก จึงเป็นสามเดือนของการพิสูจน์ความอดทน
อย่างแท้จริง เพราะถ้านับภาระงานสอน ๙ ชั่วโมงต่อสัปดาห์
งานกิจกรรม / งานในตำแหน่งหัวหน้าโปรแกรมศิลปกรรม / งานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
และงานดูแลชีวิตส่วนตัว ให้มีข้าวกินมีเงินใช้ จากต้นเดือนถึงปลายเดือน

ก็ถือว่าได้ใช้ชีวิตเหมือน
“คนแบกเป้บรรจุก้อนกินเดินขึ้นเขา”

ตอนนี้ยังเพิ่มงานเรียนวันเสาร์อาทิตย์เต็มวัน และตอนเย็นของบางวันเข้าไปอีก
ชีวิตการเรียนปริญญาเอกจึงไม่ใช่แค่อดทน แต่มันต้องเดินทางไปจนถึงขั้น
“ทรหด” อีกด้วย

เวลาที่หายไปสามวันต่อสัปดาห์ การบ้านที่อาจารย์มอบหมายทั้งงานกลุ่ม
งานเดี่ยว ที่ต้องทำอย่างมีคุณภาพให้สมกับ “แคนดิเดท ด๊อกเตอร์” ในอนาคต

เวลาที่หายไปจึงมีมากกว่ากว่า ๗๒ ชั่วโมง
เวลายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน เหมือนจะไม่พอเสียแล้ว

แต่เมื่อเวลาทุกคนมีเท่ากัน จึงต้องหาวิธีเพิ่มเวลาด้วยหลักการง่าย ๆ
คือ ตื่นให้เร็วกว่าเดิมหนึ่งชั่วโมง และนอนช้ากว่าเดิมหนึ่งชั่วโมง

วิธีนี้ทำให้เวลาในหนึ่งวันเพิ่มเป็น ๒๖ ชั่วโมง เพียงพอสำหรับการอ่านเพิ่ม
ค้นคว้าเพิ่ม เรียนรู้บทเรียนใหม่ ๆ เพิ่ม ที่สำคัญเริ่มที่จะเรียนรู้ และเข้าใจว่า
เรายังเหลือเวลาที่จะใช้สำหรับพักผ่อนอีกนาน วันนี้ยังมีแรงให้ลงมือทำ
ยังมีสมองให้เริ่มคิด


“วันใดที่ดินกลบหน้า วันนั้นจะเป็นวันที่ได้พักผ่อนตลอดกาล”


โลกของการเรียนปริญญาเอก จึงไม่ได้แค่สอนให้รู้จักโลก “กว้าง” ขึ้น
เพียงเพราะได้ไปดูงานและเรียนบางวิชาบนแผ่นดินอเมริกา เยอรมัน ออสเตรเลีย
แต่สอนให้เราเรียนรู้ชีวิตของตัวเองและของคนอื่นในทาง “ลึก” อีกด้วย

คนอเมริกันอยู่อย่างหวาดระแวงเพราะนโยบายทางการเมืองที่ขัดแย้งกับมุสลิม
หลังเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน คนอเมริกันก็ใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

คนเยอรมันพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เก่งกว่าคนไทย และคนออสเตรเลีย
มีสถานะแค่ “คนชายขอบ” ของทวีปที่ตัวเอง (อาศัย) อยู่


โลกของการเรียนปริญญาเอกไม่ได้สอนแค่ทฤษฎี ตามตำราฝรั่ง แต่ยังสอนให้
“คิดนอกกรอบ”
พร้อม ๆ กันไปด้วย เวลาที่เพิ่มขึ้นวันละสองชั่วโมง นั่นแหละเป็นตัวอย่างหนึ่ง
ของการคิดนอกกรอบ


คนที่เรียนปริญญาเอก จะเสียเวลาที่เป็นส่วนตัวไปเกือบหมด
ไม่มีเวลาเดินทอดน่องดูโปรแกรมหนัง เพื่อรอเวลาของหนังที่อยากดู
ไม่เหลือเวลาไปดูคอนเสิร์ตที่อยากไป ไม่มีแม้แต่เวลาจะตั้งใจดูลิเวอร์พูล
ทีมโปรด ทางทีวี ที่ถ่ายทอดสดทุกสัปดาห์ ทำได้อย่างมากแค่เปิดทีวีทิ้งไว้
ฟังเสียง แล้วเงยหน้ามองเกมบางช่วง ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ

ปริญญาเอกจึงสอนให้รู้จักคุณค่าของเวลา เรียงลำดับและจัดการกับทุกอย่าง
ที่เคยเป็นความคุ้นชินให้อยู่ในระบบระเบียบ สาระตรงนี้ต่างหาก
ที่ทำให้คุณค่าของปริญญาไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่เดินขึ้นไปรับใบประกาศฐานะบนเวที
หรือมีคำนำหน้าชื่อ แต่เป็นการสอนให้เกิดกระบวนการทางความคิด
ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ตลอดที่ชีวิตยังเหลืออยู่


ปี ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยฯ อนุมัติดุษฎีบัณฑิต หัวข้อ

“การเดินทางของคาราบาวจากยุคอุดมการณ์สู่เส้นทางทุนนิยม”

เป็นหัวข้อเรื่องที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นแบบคนละทิศทาง
มีเหตุผลสองประการ ที่ตัดสินใจเลือกหัวข้อนั้น

หนึ่ง.เพราะรสนิยมส่วนตัว

สอง. เชื่อมั่นในประโยคที่เคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งว่า
ต้องคิดทุกอย่างให้แตกต่าง เพราะถ้าไม่ต่างโลกนี้จะไม่หมุน

ประโยคนั้นเขียนสรุปสั้นๆ ได้ว่า
Diffenctiate or Die


ผลการวิจัยเรื่องดังกล่าวถูกนำไปต่อยอดจนเป็นพ๊อกเก็ตบุ๊คส์ขนาด ๓๒๐ หน้า
ชื่อ “ตามรอยควาย”


เป็นงานที่ได้รับคำชื่นชมจากสื่อมวลชนสายบันเทิง
ได้รับการยอมรับจากสมาชิกวงดนตรีคาราบาวและแฟนเพลงคาราบาว
อีกจำนวนไม่น้อย

ชื่อของด๊อกเตอร์จากสวนดุสิตเริ่มรู้จักในสังคม


ปีต่อมา.....เรื่องราวของคาราบาวที่รวบรวมเป็นข้อมูลมหาศาล
ในช่วงที่เรียนปริญญาเอก ถูกนำมาจัดเรียงใหม่ และหาข้อมูลเพิ่ม

จนได้พ๊อกเก็ตบุ๊คส์เล่มที่สอง

ชื่อ “ห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู” (ซึ่งคนละความหมายกับมีครูเป็นควาย)

มีเนื้อหาที่เล่าถึงเทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ที่มีเพลง
เป็นตัวเชื่อมครูกับ นักเรียน เป็นงานกึ่งวิชาการ ที่ใช้ภาษาแบบชาวบ้าน
มีเป้าหมายที่ การนำดุษฎีนิพนธ์เล่มหนาลงมาชั้นหนังสือให้ได้
ส่งให้ชื่อของ “สวนดุสิต”

เข้าไปอยู่ในแวดวงวรรณกรรมเพิ่มขึ้นอีกวงการหนึ่ง



ปริญญาเอกของผศ.ดร.ฐานะวัฒนา สุขวงศ์ (เพื่อนร่วมรุ่น)
เรื่อง “ยุทธวิธีการนำเสนอเพลงไทยประยุกต์สู่กลุ่มวัยรุ่น”
ถูกนำมาเป็นต้นทางความคิด จนกระทั่งเกิดเป็นการแสดงดนตรีร่วมสมัย

“เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด”

มีคาราบาวกับขุนอิน เป็นพระเอก

ตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อย่างเป็นรูปธรรม
เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการหว่าน เพาะ ปลูก รดน้ำ พรวนดิน
ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมล็ดพันธุ์ความรู้ในระดับปริญญาเอก
งอกเงยในสังคม อย่างดงาม

ตอบโจทย์บางข้อที่สังคมไทยยังบกพร่อง


ตอนนี้รู้แล้วว่า...
“เรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ต่อสู้เพื่ออะไร และทำทุกอย่างในวันนี้เพื่อใคร”


ก่อนจะเป็นด๊อกเตอร์ เส้นทางที่ยาวไกลไม่เกิน ๔ ปี

แต่หลังการเป็นด๊อกเตอร์ มีเส้นทางข้างหน้า
ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นภารกิจที่ไกลสุดสายตา.

1 ความคิดเห็น: